วันพุธที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2559

การสื่อสารวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี กับการพัฒนาประเทศ

การพัฒนาอย่างรวดเร็ว ของวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ทำให้หลายประเทศในโลกที่ เห็นความสำคัญของการศึกษา ต่างปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจ ที่พึ่งพาอุตสาหกรรมเป็นหลัก มาเป็นระบบที่เน้นความรู้ในการพัฒนาประเทศแทน อย่างเช่น อเมริกา ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ประเทศเหล่านี้มีรายได้ของประชากร ติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศที่ส่งออกที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
            ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังพัฒนา เพื่อไปสู่ประเทศที่พัฒนาด้านอุตสาหกรรม ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้ว กำลังจะปรับเปลี่ยนไปสู่ สังคมดิจิตอลไปแล้ว เท่ากับว่าประเทศเหล่านี้ก็หนีไปจากเราอีกหนึ่งขั้น เมื่อรู้แล้วผู้นำประเทศของเราใช้เวลา 4 ปีในการบริหารประเทศได้พยายามปรับเปลี่ยนการบริหารงานราชการแผ่นดินให้เป็น รัฐบาลดิจิตอล หรือ (E-Government) โดยเน้นให้ประชาชนได้รับข้อมูล ข่าวสารมากขึ้น และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยอาศัยความรู้ ความเข้าใจวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เป็นตัวขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม พัฒนาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน

1. การพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี กับการปรับโครงสร้าง เศรษฐกิจ สังคม
และวัฒนธรรมไทย
                วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่ก้าวไปอย่างไม่หยุดยั้งนั้น ทำให้โครงสร้าง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เปลี่ยนแปลงไป เช่น การโคลนนิ่ง การตัดต่อพันธุกรรม การถอดรหัสพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต เหล่านี้คือวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่มีผลกับการพัฒนาประเทศทั้งสิ้น
            ด้านเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีก็เป็นส่วนที่ช่วยให้ เศรษฐกิจของอเมริกาด้วยการสร้างสรรค์เทคโนโลยีด้าน ไอทีจน บริษัทMicrosoft มีทรัพย์สิน มากกว่า 10 เท่าของมูลค่าการส่งออกของบราซิล ในปี 1998 ประชากรบราซิลมี ประมาณ 171 ล้านคน ส่วนไมโครซอฟท์มีพนักงาน เพียง 3 หมื่นกว่าคน
            ด้านสังคม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ช่วยรักษาผู้ป่วยจากโรคร้ายต่างๆ  ทำให้มนุษย์อายุยืนมากขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่สุขสบายขึ้น ระยะทางไม่เป็นอุปสรรคในการติดอีกต่อไป เมื่อก่อนการโทรศัพท์ไปอเมริกาจะเสียค่าใช้จ่ายนาทีละ 50 กว่าบาท แต่วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีช่วยลดเหลือไม่ถึง 10 บาทแถมเห็นน่าตา กันได้ด้วย

            ด้านวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ช่วยการรักษาโบราณสถาน วัฒนธรรมเก่าแก่ไม่ให้เสื่อมไปตามกาลเวลาได้ ช่วยศึกษาอดีตอันรุ่งโรจน์ของอาณาจักรต่างๆในอดีตได้ ทั้งหมดที่กล่าวมาคือผลของวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ซึ่งหากผู้นำประเทศมองเห็น และมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ก็จะสามารถแข่งขันกับ นานาประเทศที่พัฒนาแล้วได้

                สังคมกับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
            ถ้ามีคนถามเด็กๆ ว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร ส่วนใหญ่จะตอบว่า หมอ ตำรวจ ทหาร ข้าราชการ น้อยคนนักที่จะบอกว่าอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักพัฒนาเทคโนโลยี เพราะสังคมของประเทศไทยนั้นยังไม่เข้าใจในวิทยาศาสตร์เพียงพอ ไม่รู้ว่าวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีนั้นเข้าไปมีส่วนกับทุกๆ เรื่องของชีวิต
            พอพูดถึงเรื่องวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี หลายๆคนมักจะนึกถึงเรื่องราวเลวร้ายที่เกิดขึ้นจากวิทยาศาสตร์ เช่น เหตุการณ์เตาปฏิกรณ์ปรมาณูรั่วที่ รัสเซีย แก็สพิษรั่วที่อินเดีย สงครามโลกครั้งที่ 2 และอีกหลายอย่างที่พยายามจะนึกถึง จนทำให้สังคมเหล่านั้นปิดกั้นไม่อยากรับรู้ หรือเข้าใจวิทยาศาสตร์ว่าเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ
            J. Miller แห่งองค์การ National Science Foundation ของอเมริกา ได้สำรวจการรู้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของคน อเมริกันตั้งแต่ปี 2522 ว่ามีเพียง 44% เท่านั้นที่รู้ว่าอิเล็กตรอน เล็กกว่าอะตอม ต่อมา พ.ศ. 2541 คนอเมริกันมีความสนใจในวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมากขึ้นเป็น 70% ซึ่งการเพิ่มขึ้น J. Miller ให้เหตุผลว่า เกิดจากการที่หนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์ต่างๆ ได้ลงข่าวเกี่ยววิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ จนทำให้หลายคนในประเทศเกิดความคุ้นเคยกับวิทยาศาสตร์
            งานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 14 ซึ่งจัดที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงแรมรอยัล ออคิด มีจำนวนผู้เข้าลงทะเบียนประมาณ 800 คน
เมื่อเปรียบเทียบประชากรเกือบ 60 ล้านคน สังคมไทยยังมองไม่เห็นบทบาทของวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่จะช่วยพัฒนาประเทศได้ นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้มีบทบาทในการสร้างชาติ เหมือนกับนักการเมือง และนักเศรษฐศาสตร์ ในการประชุมครั้งนั้นมีข้อหนึ่งที่ต้องการให้มีการถ่ายทอดความรู้ และความตื่นเต้นทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีให้สังคมได้รับรู้บ้าง ควรเป็นหน้าที่ของใคร
            ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ให้ความเห็นว่านอกเหนือจากการพัฒนาการศึกษาในบ้านเราให้ดีขึ้นแล้ว การวิจัย และการพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีให้เจริญทัดเทียมกับ อารยะประเทศก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถยืนหยัดแข่งขันบนเวทีโลกได้ การสร้างวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีต้องให้เวลายาวนานจำเป็นต้องปรับโครงสร้างต่างๆ การสร้างบุคลากรในด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีให้มากขึ้น เราจึงต้องเตรียมตัว และปลูกฝังตั้งแต่ตอนนี้ แต่เนื่องจากคนไทยไม่ถูกสอนให้เป็นนักคิด เราจึงผลิตได้น้อย คอยพึ่งพาคนอื่น นักวิจัยบ้านเรามีน้อยแค่ 2 คนต่อหมื่นคน ซึ่งประเทศอื่นๆมีมากว่าถึง 10 เท่า

            การสื่อสารการสื่อสารวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี คืออะไร
                การสื่อสารการสื่อสารวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี   หมายถึง การใช้ความรู้ทางด้านนิเทศศาสตร์ ไปใช้ในการอธิบาย สร้างความเข้าใจ จุดประกาย หรือทำให้เกิดแนวคิดต่างๆ จากนักวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สู่ประชาชน หรือกลุ่มเป้าหมายให้เกิดความเข้าใจในวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีว่ามี ประโยชน์ และโทษอย่างไร มีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์แค่ไหน ปลูกฝัง และสร้างสำนึกจนเกิดการที่อยากที่จะเรียนรู้ หรือทำความเข้าใจกับวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
            ผู้ที่จะใช้ความรู้ทางนิเทศศาสตร์ มาบูรณการ กับวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีนั้น ย่อมต้องมีความรู้ความเข้าใจใน วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีบ้าง อาจไม่ถึงขึ้นรู้ลึก แต่ต้องรู้รอบด้าน เปรียบเทียบกับการที่ พนักงานขายสินค้า ย่อมต้องรู้จักตัวสินค้า จึงจะขายสินค้านั้นได้ แต่ปัจจุบันนักนิเทศศาสตร์ส่วนใหญ่ ยังไม่กล้าที่จะให้ความสนใจในการให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี กับกลุ่มเป้าหมายมากนัก อันเนื่องมาจากการขาดความเข้าใจในวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีนั่นเอง

                การสร้างความรู้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
            เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมานักสังคมศาสตร์ราวๆ 20 ประเทศได้ออกแบบสอบถามความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ใช้กลุ่มตัวอย่าง 25,000 คนซึ่งผลสำรวจมีดังนี้ คนยุโรปตะวันตกมีความรู้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มากกว่าคนยุโรปตะวันออก และผู้ชายรู้เรื่องดีกว่าผู้หญิง
ในเอเชียมีญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 12 ของโลก ซึ่งถ้าพิจารณา ให้ดีตัวเลขหรือสถิติบางตัว ก็จะเปลี่ยนแปลงไปตาม วัฒนธรรม ประเพณี และความเชื่อของคนในแต่ละชาติ ซึ่งมีบทบาทในการกำหนดความคิดเห็น หรือความเข้าใจในวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
            ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ ประเทศสิงคโปร์ ในปี 1950 สิงคโปร์เป็นเกาะเล็กๆ ยากจน และไม่ได้เป็นประเทศด้วย (มาเป็นประเทศเมื่อปี 1965) ผู้นำสิงคโปร์เคยขอเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซีย เพราะว่าการรวมกันจะทำให้ยากจนลงกว่าเดิม แม้แต่พม่า และศรีลังกายังมีฐานะรวยกว่าสิงคโปร์เสียอีก ลีกวนยูไม่มีทางเลือกนอกจากการให้การศึกษากับประชาชน ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ในปี 1999 คนสิงคโปร์มีรายได้มากกว่าคนอังกฤษ 2 เปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องมองพม่า กับบ้านเราเลยว่าต่างกันแค่ไหน ขณะที่พม่าใครที่มีคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องโทษจำคุก 15 ปี

2. เหตุผลของการพัฒนาบุคลากรด้านการสื่อสาร ให้มีความเข้าใจในวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
           
การทำหน้าที่ การไม่ทำหน้าที่ การละเลยต่อหน้าที่ของสื่อมวลชน
ความจำเป็นที่ต้องการสร้างความรู้ความเข้าใจในวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีต่อคนในชาติ เป็นเรื่องที่สำคัญมากทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน อย่างจริงจัง และต่อเนื่อง ใน 4ปีของการบริหารประเทศของนายกทักษิณ ชินวัตร ให้ความสำคัญกับการศึกษา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมากกว่ารัฐบาลที่ผ่านๆ มา แต่ก็ยังไม่สามารถเชื่อว่าคนในชาติจะมีความเข้าใจวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมากขึ้นกว่าเดิม องค์กร และสถาบันต่างๆในสังคมต้องร่วมมือกัน สร้างทัศนคติ มโนคติ ความเชื่อที่ดีต่อวิทยาศาสตร์ ให้ทุกคนเห็นถึงความสำคัญในการเข้าใจวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
องค์กรภาครัฐฯ และเอกชน ไม่ว่าจะเป็น สถาบันครอบครัว   สถาบันการศึกษา สถาบันสื่อมวลชน ต่างต้องปรับตัวให้ยอมรับในภาวการณ์ของโลกในยุคนี้ ซึ่งสื่อมวลชนก็มีหน้าที่สำคัญในการให้ข่าวสาร ให้ความรู้และการศึกษา ให้ความบันเทิง โน้มน้าวใจ และเป็นเวทีแสดงความคิดเห็น การใช้สื่อมวลชนมาช่วยในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี จึงเป็นหน้าที่ของสื่อมวลชน
ศ.ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ให้ความเห็นว่า สื่อมวลชนในประเทศไทยให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีน้อยเกินไป อาจเกิดจากเรื่องราวของวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีไม่เป็นที่สนใจของประชาชน เหมือนไสยศาสตร์ โชคชะตาราศี หรือสื่อมวลชนขาดความเข้าใจในวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และกลัวว่าการให้ข้อมูลด้านนี้เกิดความผิดพลาดได้ จึงไม่กล้าที่จะเสนอข่าวประเภทนี้
งูกินหาง ปัญหาที่ต้นเหตุ กลับกลายเป็นปัญหาที่ปลายเหตุ
ถ้าสื่อมวลชนไม่เข้าใจวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี จึงไม่กล้าเสนอข่าวนี้ คงต้องแก้ที่การศึกษาที่จบมา ก็จะพบปัญหาว่าในหลักสูตรไม่มีการสอนเรื่องวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเลย ถ้าไม่มีก็เพิ่มวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เข้าไปในหลักสูตร ก็จะพบว่าไม่มีผู้สอนเกี่ยวกับวิชาการนำเสนอข่าวด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี นี้เลยถึงมีก็น้อยมาก คงต้องแก้ด้วยการเพิ่มบุคลากรด้านนี้เข้าไป ปัญหาคือว่าสังคมยังไม่ยอมรับวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเลย เพราะนักศึกษาส่วนใหญ่จบสายวิทยาศาสตร์และ คณิต น้อยมาก และพวกที่จบก็จะเลือกเรียนแพทย์ และเลือกเป็นวิศวกรเสียส่วนใหญ่ น้อยคนนักที่จะเรียนคณะวิทยาศาสตร์ เหตุหนึ่งเพราะว่าขาดการให้ความรู้ โน้มน้าวใจในเห็นถึงคุณค่าของวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
สื่อมวลชนเป็นสถาบันของสังคมในการให้ความรู้ และหากภาครัฐฯ เห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ประชาชนย่อมเข้าใจ และเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีนั้นด้วย แต่ประชาชนจะเข้าใจ และติดตามข่าวสารวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ต่อเมื่อสื่อมวลชนเองต้องมีความเข้าใจ และติดตามวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในระดับสูง หน้าที่ ที่สำคัญของสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวสารวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีคือการ เป็นสื่อกลางระหว่างองค์กรวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี กับประชาชนทั่วไป
การเริ่มที่จะให้ความสนใจวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของสื่อสารมวลชนในระดับการศึกษานั้นในต่างประเทศมีมานานแล้ว ใช้ชื่อว่า การสื่อสารวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี หรือ(Science Communication) ซึ่งมีการเรียนการสอนในระดับ ปริญญาโท และเอกในต่างประเทศ ในประเทศไทยก็เริ่มมีการตื่นตัวอยู่บ้างแต่ก็ยังอยู่ในวงจำกัด ซึ่งจะมีการเพิ่มวิชาการรายงานข่าววิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ซึ่งจะแทรกไว้ในการศึกษาระดับปริญญาตรี เพื่อให้นักสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี สามารถรายงานข่าวสารที่เป็นความรู้ในรูปแบบต่างๆได้

3. แนวทางการพัฒนาหลักสูตร การสื่อสารวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี(Science Communication) เพื่อผลิตนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ป้อนเข้าสู่สังคม
               
ลักษณะที่สำคัญของนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
            ผู้สื่อข่าว ผู้รายงานข่าว ผู้จัดรายการ ผู้ผลิตรายการ ผู้เขียนบท บรรณาธิการ มีความสนใจใน วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีก็จะทำให้รูปแบบการนำเสนอ ข่าว บทความ สารคดี
การสัมภาษณ์ การอภิปราย การสนทนา ละคร หรือแม้แต่ภาพยนตร์ ก็จะถูกนำเสนอในรูปแบบที่น่าสนใจ น่าติดตาม และสร้างความเชื่อใจแก่ประชาชน
            การสร้างความเข้าใจนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายนั้นต้องอาศัยความรู้ด้านนิเทศศาสตร์เข้ามาช่วย แต่ต้องมีความเข้าใจนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีด้วยจึงจะสามารถสร้างภาพพจน์ที่ต่อ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีได้
             วิทยาศาสตร์ หมายถึงองค์ความรู้ที่ รวบรวมไว้อย่างเป็นระบบ และเป็นกระบวนการที่ใช้ในการค้นพบความรู้ มีความแท้จริง คงเส้นคงวา สามารถศึกษาและเข้าใจได้
            จากความหมายของวิทยาศาสตร์ จึงสรุปลักษณะของนักการสื่อสารวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีได้ดังนี้ 1.ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ 2.เชื่อมั่นว่าปัญหาต้องแก้ได้ 3.ถ้ามีปัญหาต้องพิสูจน์โดยการทดลอง 4.ไม่มีอคติ 5.ยอมรับกับสิ่งใหม่ๆและเต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลง 6.ยอมรับความจริง 7.มีตัวเลือกในการแปลความหมาย 8.ยอมรับข้อมูล ทฤษฎี และข้อสนับสนุนที่มีเหตุผล 9.อยากรู้อยากเห็น
            หน้าที่ของนักการสื่อสารวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
            การพยายามลดช่องว่าง แห่งความเข้าใจของประชาชน กับความรู้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเป็นหน้าที่สำคัญของนักการสื่อสารวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยเน้นที่การให้ความคิดโดยใช้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ร่วมกับความรู้จากศาสตร์อื่นๆ เช่นประเทศไทยเป็นสังคมการเกษตร ก็อาศัยความเข้าใจวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีจากนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่นำเสนอ แล้วนำไปประยุกต์ใช้กับสิ่งทำอยู่ ตัวอย่างการคัดเลือกพันธุ์ข้าวของกระทรวงเกษตรฯ

การเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา
การแก้ไขปัญหา บุคลากรด้านสื่อสารมวลขาดความเข้าใจในวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีจะต้องแก้พร้อมๆกันคือ ด้านนักศึกษา ด้านผู้สอน ด้านหลักสูตร และสังคมรวม เพื่อให้การแก้ไขโครงสร้างการพัฒนาบุคลากรด้านสื่อสารวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เป็นไปอย่างยั่งยืน
ด้านนักศึกษา คือผู้ที่จะทำหน้าที่สร้างความเข้าใจ และให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี จึงจำเป็นต้องปลูกฝังความเชื่อที่ว่าวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตทุกชีวิตบนโลกใบนี้ เพื่อที่สร้างแรงจูงใจใฝ่รู้เรื่องวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีตอลดไป และเมื่อจบการศึกษาไปแล้วก็จะทำหน้าที่ได้อย่างดี
ด้านผู้สอน นักศึกษาที่จบไปบางส่วน อาจเข้าสู่อาชีพ ครู อาจารย์ บุคคลเหล่านี้จะเป็นผู้จุดประกายความสนใจให้นักเรียนนักศึกษาในระดับต่างๆ ให้เห็นถึงคุณค่า และความจำเป็นที่ต้องสนใจวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ส่วนผู้สอนที่จะต้องสอนผู้ที่จะจบสาขานิเทศศาสตร์นั้นจำเป็นต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม และปรับเปลี่ยนทัศนคติให้ผู้ที่ต้องค้นหาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีตลอดไป
ด้านหลักสูตร พบว่าหลักสูตรด้านนิเทศศาสตร์ในปัจจุบัน ไม่มีวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเลย มีเพียงแต่วิชาบังคับที่ไม่เน้นให้คิด แต่มุ่งให้เรียนรู้เท่านั้น ดังนั้นงานวิจัยของ ผ.ศ.ธีรารักษ์ โพธิสุวรรณ กล่าวไว้ว่า การสร้างนักวิทยาศาสตร์นิเทศ ต้องสร้างตั้งแต่ระดับปริญญาตรี เพราะบัญฑิตเหล่านี้จะต้องลงไปทำงานระดับปฏิบัติการเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหมายถึงการเป็นผู้สร้างความเข้าใจ หรือเป็นสะพานเชื่อมระหว่างความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี กับสารธารณชน
ด้านสังคมรวม หมายถึง สื่อมวลชน และรัฐบาล สื่อมวลชนทั้งหมดไม่วาจะเป็น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ อินเตอร์เน็ต ต้องทำหน้าที่สร้างความเข้าใจในวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ส่วนด้านการเมืองก็จะต้องสนับสนุนสื่อเหล่านี้ ในรูปแบบต่างๆ เช่นการลดภาษีการสร้างภาพยนตร์เกี่ยววิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี หรือเสนอให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อกิจการที่ให้ความรู้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี การส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในระดับประชาชน จนก่อให้เกิดวัฒนธรรม และสังคมวิทยาศาสตร์
หากทุกด้าน ทุกฝ่ายต่างร่วมมือ ร่วมใจกันแล้ว ประเทศชาติไทยก็จะมี เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมที่ดี และสามารถแข่งขันกับ ทุกประเทศในโลกนี้ได้ อย่างเท่าเทียม

แหล่งที่มา  http://www.jobpub.com/articles/showarticle.asp?id=1437

ความสำคัญการสื่อสารวิทยาศาสตร์

 ในโลกปัจจุบันนี้ การเป็นนักวิทยาศาสตร์อย่างเดียวคงไม่สามารถขับเคลื่อนประเทศชาติ หรือโลกให้ก้าวหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเรายังมีประชาชนคนทั่วไปมากมายที่ไม่มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะทำให้พวกเขาเหล่านั้นเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของความก้าวหน้าในวงการวิทยาศาสตร์ก็คือ การที่จะต้องมีใครซักคนถ่ายทอด สื่อสาร ความรู้เหล่านั้นไปยังพวกเขา และนี่เองเราจึงขาดเค้าไม่ได้
การสื่อสารวิทยาศาสตร์คืออะไร?
การสื่อสาร + วิทยาศาสตร์
การสื่อสารวิทยาศาสตร์ก็คือ การถ่ายทอดข่าวสาร(message) ทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่ยากแก่การเข้าใจของคนทั่วไป ให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นเพื่อเผยแพร่แก่สาธารณะชน รวมถึงการถ่ายทอด หลักการทางวิทยาศาสตร์(scientific method) ให้ประชาชนได้รู้จักการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล และตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์

บทบาทของนักสื่อสารวิทยาศาสตร์มีอะไรบ้าง?
- เผยแพร่ความรู้ ความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่ประชาชน
- สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชน

อาชีพของนักสื่อสารวิทยาศาสตร์
- ผู้สื่อข่าววิทยาศาสตร์ นสพ. วิทยุ ทีวี นิตยสาร
- นักสื่อสารองค์กร
- นักเขียนเรื่องวิทยาศาสตร์
- บรรณาธิการ
- นักสร้างภาพยนตร์
- นักวิชาการด้าน
- ครู อาจารย์

วิธีการสื่อสาร
- การเขียน: ข่าว สารคดี บทความ นิยายวิทยาศาสตร์
- การพูด: บรรยาย อภิปราย สอนหนังสือ
- การแสดง: ภาพยนตร์ Science show ละครโทรทัศน์ เดี่ยวไมโครโฟน
- การร้องเพลง: การเล่นและบรรเลงดนตรี

รูปแบบของสื่อ
- สื่อสิ่งพิมพ์: หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หนังสือ ตำราเรียน
- สื่ออิเล็กทรอนิกส์: วิทยุ โทรทัศน์ อินเทอร์เนต พาวเวอร์พอยต์

ซึ่งปัจจุบันนี้ประเทศไทยเราก็มีนักสื่อสารวิทยาศาสตร์อยู่จำนวนหนึ่ง ไม่ว่าจะในบทบาทของนักเขียน หรือนักจัดรายการโทรทัศน์ หรือวิทยุ อันได้แก่
- รายการในเครือของ Mahidol Channel ซึ่งจัดทำโดยมหาวิทยาลัยมหิดล (www.mahidolchannel.com)
  - รายการ Descience
- นักเขียนอีกหลายท่านที่เขียนหนังสือวิทยาศาสตร์
- รายการวิทยุ(podcast) WiTcast   ที่จัดโดยแทนไท ประเสริฐกุล, (ป๋องแป๋ง) อาจวรงค์ จันทมาศ, และอาบัน สามัญชน

แหล่งที่มา  http://pantip.com/topic/32485502

ความหมายของวิทยาศาสตร์

 วิทยาศาสตร์ คือ ความรู้ที่เกิดขึ้นมาจากการสังเกตปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นของธรรมชาติ วิทยาศาสตร์จะเป็นวิธีการค้นหาความจริงของธรรมชาติวิธีหนึ่ง ที่ได้ผลแน่นอนหรือถูกต้องที่สุด วิทยาศาสตร์จะมีหลักอันเป็นหัวใจอยู่ที่
๑. มีการศึกษาอย่างเป็นระบบ โดยศึกษาจากพื้นฐานแล้วแตกกิ่งก้านสาขาออกไปอย่างมีระเบียบ รวมทั้งยังมีการศึกษาและปฏิบัติอย่างมีขั้นตอนอีกด้วย
๒.     ศึกษาจากสิ่งที่มีอยู่จริงที่เราสามารถรู้เห็นหรือสัมผัสได้จริงในปัจจุบัน
๓.   ศึกษาโดยใช้เหตุใช้ผล ที่สมเหตุสมผลที่สุด
๔.    จะเชื่อต่อเมื่อได้มีการพิสูจน์หรือทดลองจนเห็นผลอย่างแน่ชัดแล้วเท่านั้น
สิ่งสำคัญในการศึกษาธรรมชาติและชีวิตของเรานี้ก็คือ เราจะต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์มาศึกษา  คือเราจะเอาสิ่งที่ปรากฏหรือมีอยู่จริงๆในปัจจุบัน ที่เราสามารถรู้เห็นหรือสัมผัสได้จริงด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจของเราเท่านั้นมาใช้ศึกษา โดยการคิดพิจารณาก็ต้องใช้เหตุผลที่สมเหตุสมผลเท่านั้น เราจะไม่อาศัยการคาดคะเน หรือนึกเดาเอา หรือเชื่อตามคนอื่นอย่างเด็ดขาด แม้ใครจะโอ้อวดว่าเขามีความรอบรู้อย่างยิ่ง หรือมีอิทธิฤทธิ์มากมายสักเพียงใดก็ตาม หรืออวดอ้างว่าเป็นผู้วิเศษที่รอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่างสักเท่าใดก็ตาม เราก็จะไม่เชื่อ จนกว่าเราได้จะพิสูจน์ให้เห็นจริงแล้วอย่างแน่ชัด
            การศึกษาที่ขัดแย้งหรือตรงข้ามกับหลักวิทยาศาสตร์อย่างยิ่งก็คือ “การเชื่อจากผู้อื่นโดยตนเองไม่ได้รู้เห็นหรือสัมผัสด้วยตนเองจริงๆอย่างแน่ชัด” ซึ่งนั่นเป็นหลักของ “ไสยศาสตร์” (ที่หมายถึงความรู้ของคนหลับหรือไม่มีสติปัญญา) ที่อาศัยเพียงความเชื่อโดยไม่ใช้ปัญญา คือไม่มีเหตุผล และไม่มีของจริงมายืนยัน โดยหลักของไสยศาสตร์ก็คือ “ให้เชื่อเพียงอย่างเดียว ห้ามถาม ห้ามสงสัย” ซึ่งไสยศาสตร์ก็ย่อมที่จะมีแต่เรื่องลึกลับไกลตัว หรือเรื่องที่เขาเชื่อว่าเหนือธรรมชาติ เช่น เรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ ปาฏิหาริย์ หรือสิ่งวิเศษ หรืออำนาจวิเศษต่างๆ เป็นต้น ที่พิสูจน์ให้เห็นจริงไม่ได้ มีแต่คำล่ำลือปากต่อปากเท่านั้น และคนที่เชื่อก็มักเป็นคนไม่ชอบใช้ความคิดและขลาดกลัวหรืออ่อนแอ  ซึ่งเรื่องไสยศาสตร์ที่สำคัญก็คือเรื่องที่ว่า จะมี “จิต” ของมนุษย์หรือสิ่งที่มีชีวิต ที่จะสามารถออกจากร่างกายที่ตายแล้ว ไปเกิดยังร่างกายใหม่ๆได้ (อย่างที่เรียกกันว่า ผี หรือวิญญาณ) หรือเรื่องสถานที่สำหรับลงโทษมนุษย์ที่ทำความชั่วที่ตายไปแล้ว (นรกใต้ดิน) หรือสถานที่สำหรับเป็นรางวัลแก่มนุษย์ที่ทำความดีเมื่อตายไปแล้ว (สวรรค์บนฟ้า) หรือเรื่องเทวดา นางฟ้า ปีศาจ ซาตาน เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องของไสยศาสตร์ทั้งสิ้น
ไสยศาสตร์ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสมอไป ถ้านำเรื่องไสยศาสตร์มาใช้ให้เกิดสิ่งที่ดีงามก็จัดว่ามีประโยชน์ แต่ถ้าเป็นเรื่องการศึกษาให้เกิดปัญญา เพื่อให้เกิดความเห็นแจ้งในธรรมชาติและชีวิตแล้ว ไสยศาสตร์กลับจะเป็นตัวฉุดให้จมอยู่ ไม่เจริญงอกงาม เราจะต้องละทิ้งไสยศาสตร์ แล้วมาใช้หลักวิทยาศาสตร์เท่านั้น เราจึงจะศึกษาให้เกิดความเห็นแจ้งชีวิตและธรรมชาติได้
            สรุปได้ว่า ถ้าเรายังเชื่อว่า “เรื่องราวของไสยศาสตร์ทั้งหลายมีจริงหรือเป็นจริง” ก็แสดงว่าเรายังเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงไม่ได้ เพราะยังไปหลงเชื่อสิ่งที่เราเองก็ยังพิสูจน์ให้เห็นจริงไม่ได้  แล้วจะมาเป็นนักวิทยาศาสตร์เพื่อค้นหาความจริงของชีวิตให้กับตัวเองได้อย่างไร? ซึ่งจุดนี้นับว่าสำคัญที่สุด ที่เราจะมองข้ามไปไม่ได้เลย ถ้าปรารถนาที่จะค้นหาความจริงให้กับตัวเอง

ความหมายของการสื่อสาร

การสื่อสาร (Communication) หมายถึง กระบวนการส่งข่าวสารข้อมูลจากผู้ส่งข่าวสารไปยังผู้รับข่าวสาร มีวัตถุประสงค์เพื่อชักจูงให้ผู้รับข่าวสารมีปฏิกิริยาตอบสนองกลับมา โดยคาดหวังให้เป็นไปตามที่ผู้ส่งต้องการ
องค์ประกอบของการสื่อสาร ประกอบด้วย
1. ผู้ส่งข่าวสาร (Sender)
2. ข้อมูลข่าวสาร (Message)
3. สื่อในช่องทางการสื่อสาร (Media)
4. ผู้รับข่าวสาร (Receivers)
5. ความเข้าใจและการตอบสนอง


วัตถุประสงค์ของการสื่อสารได้จำแนกไว้ ดังนี้ 

1. เพื่อแจ้งให้ทราบหรือเพื่อทราบ หมายถึง การสื่อสารที่ผู้ส่งสารจะแจ้ง หรือบอกกล่าว
ข่าวสาร ข้อมูล เหตุการณ์ ความคิด ความต้องการของตนให้ผู้รับได้ทราบ 

2. เพื่อสอนหรือให้การศึกษา หมายถึง การสื่อสารที่มุ่งจะให้ผู้รับมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางด้านองค์ความรู้ ความคิด สติปัญญา ฉะนั้นจึงมุ่งเน้นไปที่การเรียนการสอนหรือการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการโดยเฉพาะ 
3. เพื่อสร้างความพอใจหรือให้ความบันเทิง หมายถึง การสื่อสารที่มุ่งให้เกิดผลทางจิตใจหรืออารมณ์ ความรู้สึกแก่ผู้รับสาร ซึ่งจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้ส่งสารมีข้อมูลที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้รับสาร และมีกลวิธีในการนำเสนอเป็นที่พอใจ 
4. เพื่อเสนอหรือชักจูงใจ มุ่งเน้นให้ผู้รับสารมีพฤติกรรมคล้อยตาม หรือยอมรับปฏิบัติตาม

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า วัตถุประสงค์ของการสื่อสารในแต่ละระดับมี จุดมุ่งหมายที่แตกต่างกันไป ซึ่งจะสำเร็จได้ต้องขึ้นอยู่กับทั้งฝ่ายผู้ส่งสารและฝ่ายผู้รับสาร มีความต้องการที่สัมพันธ์กัน โดยรวมแล้วพอสรุปวัตถุประสงค์การสื่อสารได้ ดังนี้
1. เพื่อแจ้งให้ทราบ คือ การรับและส่งข่าวสารด้านต่างๆ การนำเสนอเรื่องราว ความรู้สึกนึกคิด ความรู้ หรือสิ่งอื่นใด ที่ต้องการให้ผู้รับสารรู้และเข้าใจข้อมูลนั้นๆ โดยมุ่งให้ความรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง
2. เพื่อความบันเทิงใจ คือ การรับส่งความรู้สึกที่ดี และมุ่งรักษามิตรภาพต่อกัน เป็นการนำเสนอเรื่องราวหรือสิ่งอื่นใดที่จะทำให้ผู้รับสารเกิดความพึงพอใจ
3. เพื่อชักจูงใจ คือ การนำเสนอเรื่องราวหรือสิ่งอื่นใดเพื่อจูงใจให้เกิดความร่วมมือ สร้างกำลังใจ เพื่อให้ผู้รับสารเกิดความคิดคล้อยตาม หรือปฏิบัติตามที่ผู้ส่งสารต้องการ และนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไข 


ประเภทของการสื่อสาร
ได้จำแนกประเภทของการสื่อสารไว้แตกต่างกันหลายลักษณะ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการจำแนก ในที่นี้จะแสดงการจำแนกประเภทของการสื่อสาร โดยอาศัยเกณฑ์ในการจำแนกที่สำคัญ 3 ประการ คือ
1. จำแนกตามกระบวนการหรือการไหลของข่าวสาร
2. จำแนกตามภาษาสัญลักษณ์ที่แสดงออก
3. จำแนกตามจำนวนผู้สื่อสาร
1. จำแนกตามกระบวนการหรือการไหลของข่าวสาร แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
1.1 การสื่อสารทางเดียว (One-Way Communication) คือการ
สื่อสารที่ข่าวสารจะถูกส่งจากผู้ส่งไปยังผู้รับในทิศทางเดียว โดยไม่มีการตอบโต้กลับจากฝ่ายผู้รับ เช่น การสื่อสารผ่านสื่อ วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ การออกคำสั่งหรือมอบหมายงานโดย ฝ่ายผู้รับไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็น ซึ่งผู้รับอาจไม่เข้าใจข่าวสาร หรือเข้าใจไม่ถูกต้องตามเจตนาของผู้ส่งและทางฝ่ายผู้ส่งเมื่อไม่ทราบปฏิกิริยาของผู้รับจึงไม่อาจปรับการสื่อสารให้เหมาะสมได้ การสื่อสารแบบนี้สามารถทำได้รวดเร็วจึงเหมาะสำหรับการสื่อสารในเรื่องที่เข้าใจง่าย
ในสถานการณ์ของการสื่อสารบางอย่าง มีความจำเป็นต้องใช้การสื่อสารทางเดียว แม้ว่าเรื่องราวที่สื่อสารจะมีความซับซ้อนก็ตาม เช่น กรณีผู้รับและผู้ส่งไม่อาจพบปะ หรือติดต่อสื่อสารกันได้โดยตรง การสื่อสารแบบกลุ่มใหญ่ และการสื่อสารมวลชนซึ่งไม่อาจทราบผู้รับที่แน่นอน
1.2 การสื่อสารสองทาง (Two-way Communication) คือการสื่อสารที่มีการส่งข่าวสารตอบกลับไปมาระหว่างผู้สื่อสาร ดังนั้นผู้สื่อสารแต่ละฝ่ายจึงเป็นทั้งผู้ส่งและผู้รับในขณะเดียวกัน ผู้สื่อสารมีโอกาสทราบปฏิกิริยาตอบสนองระหว่างกัน ทำให้ทราบผลของการสื่อสารว่าบรรลุจุดประสงค์หรือไม่ และช่วยให้สามารถปรับพฤติกรรมในการสื่อสารให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ตัวอย่างการสื่อสารแบบสองทาง เช่น การพบปะพูดคุยกัน การพูดโทรศัพท์ การออกคำสั่งหรือมอบหมายงานโดยฝ่ายรับมีโอกาสแสดงความคิดเห็น การสื่อสารแบบนี้จึงมีโอกาสประสบผลสำเร็จได้มากกว่า แต่ถ้าเรื่องราวที่จะสื่อสารเป็นเรื่องง่าย อาจทำให้เสียเวลาโดยไม่จำเป็น
ในสถานการณ์ของการสื่อสารบางอย่าง เช่น ในการสื่อสารมวลชน ซึ่งโดยปกติมีลักษณะเป็นการสื่อสารทางเดียว นักสื่อสารมวลชนก็มีความพยายามที่จะทำให้มีการสื่อสาร 2 ทางเกิดขึ้น โดยการให้ประชาชนส่งจดหมาย โทรศัพท์ ตอบแบบสอบถาม กลับไปยังองค์กรสื่อมวลชน เพื่อนำผลไปปรับปรุงการสื่อสารให้บรรลุผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
2. จำแนกตามภาษาสัญลักษณ์ที่แสดงออก แบ่งเป็น
2.1 การสื่อสารเชิงวัจนะ (Verbal Communication) หมายถึงการสื่อสารด้วยการใช้ภาษาพูด หรือเขียนเป็นคำพูด ในการสื่อสาร
2.2 การสื่อสารเชิงอวัจนะ (Non-Verbal Communication) หมายถึงการสื่อสารโดยใช้รหัสสัญญาณอย่างอื่น เช่น ภาษาท่าทาง การแสดงออกทางใบหน้า สายตา ตลอดจนถึงน้ำเสียง ระดับเสียง ความเร็วในการพูด เป็นต้น
3. จำแนกตามจำนวนผู้สื่อสาร
กิจกรรมต่างๆ ของบุคคลและสังคม ถือว่าเป็นผลมาจากการสื่อสารทั้งสิ้น ดังนั้นการสื่อสารจึงมีขอบข่ายครอบคลุมลักษณะการสื่อสารของมนุษย์ 3 ลักษณะคือ 
3.1 การสื่อสารส่วนบุคคล (Intrapersonal Communication)
3.2 การสื่อสารระหว่างบุคคล (Interpersonal Communication)
3.3 การสื่อสารมวลชน (Mass Communication) 


แหล่งที่มา https://principlesandtheoriesofcommunication.wikispaces.com/%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88+1+%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2+%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%96%E0%B8%B8%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A0%E0%B8%97%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3

ความหมายการสื่อสารวิทยาศาสตร์

กาลครั้งหนึ่ง....ไม่นานมานี้.....แป้งทอดมีโอกาสไปเข้าร่วมสัมมนาที่ตึกลูกเต๋า  หรือองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ที่เทคโนธานีคลอง 5 จังหวัดปทุมธานี ซึ่งพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติที่คลอง 5 นี้       นับเป็นพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งเดียวในโลกที่.... ไม่มีระบบขนส่งมวลชนเข้าถึง”…..(นี่เป็นคำพูดของผู้บริหารท่านหนึ่งของ อพวช. ที่กล่าวเปิดงานสัมมนานะคะ )                       
สำหรับหัวข้องานสัมมนาในครั้งนี้ ก็คือ เทคนิคการสื่อสารวิทยาศาสตร์ และผู้ที่ให้เกียรติมาเป็นวิทยากรให้กับ อพวช. ก็คือ   Pro. Mark Brake    ศาสตราจารย์อาวุโส    ด้านการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ จาก University of Glamorgan  สหราชอาณาจักร   และ  Dr. Toby Murcott     นักเคมีวิทยา  จากสหราชอาณาจักร ที่ผันตัวเองมาเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์  ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ   “ I can talk better than doing it” หรือก็คือ   ผมว่า ผมสามารถพูดได้ดีกว่าที่ผมทำน่ะซึ่งก็คงเป็นเรื่องจริง เพราะในระหว่างการสัมมนา Dr. Murcott ได้เรียกเสียงหัวเราะจากผู้เข้าร่วมสัมมนาหลายต่อหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ฟังจะรู้สึกสนุกสนานกับการบรรยาย แต่ก็ได้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องของ การสื่อสารวิทยาศาสตร์    จากทั้งสองท่านเป็นอย่างมาก
การสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่จริงแล้ว คือ การประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางด้านการประชาสัมพันธ์ เพื่อ เสนอแนะแนวความคิดทางด้านวิทยาศาสตร์หรือเพื่อสื่อถึง กระบวนการคิดทางด้านวิทยาศาสตร์ให้ประชาชนเข้าใจ  และเกิดความตระหนักถึงความสำคัญทางด้านนี้ทำให้เกิดกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ และนำกระบวนการคิดนี้ ไปใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งการสื่อสารวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องมีเนื้อหา  (content ) ที่ ชัดเจน   และ มีจุดประสงค์หลัก ในสื่อสารว่า     ต้องการจะบอก  สอน หรือเสนอแนะ เรื่องอะไร   และจะใช้สื่อ (media)  รูปแบบใดในการสื่อสาร   ซึ่งในส่วนของ Pro. Brake นั้น  ท่านสนใจการใช้นิยายวิทยาศาสตร์ (Sci –Fiction)  ในการสื่อสารวิทยาศาสตร์ เนื่องจากนิยายวิทยาศาสตร์สามารถสื่อสารเรื่องราวและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ให้คนธรรมดาเข้าใจได้ง่ายขึ้น และนิยายเหล่านั้น สามารถสะท้อนความรู้สึก ความเปลี่ยนแปลง ความนึกคิดของสังคมในยุคนั้น ๆ ได้ อย่าง เช่น เรื่องแฟรงเก้นสไตน์ สะท้อนถึงสังคมในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม เป็นต้น   ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว ประเด็นที่นำเสนอผ่านนิยายวิทยาศาส ต ร์ จะมีอยู่ 4 ประเด็น คือ
·       space 
·       time
·       machine
·       monster  (ในความหมายของ Pro. Brake จะหมายถึง monster within us หรือด้านเลวร้ายที่ซ่อนอยู่ในจิตใจของเราทุกคน)
นอกจากนี้ Pro. Brake ยังชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของเรื่องราว ที่ถูกเขียนขึ้นในนิยายวิทยาศาสตร์กับการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันอีกด้วย Pro. Brake บรรยายว่า เรื่องราวที่ถูกเขียนขึ้นในนิยายวิทยาศาสตร์ตั้งแต่อดีต มักกลายเป็นเรื่องจริงในปัจจุบัน    เพราะพื้นฐานข้อมูลใน การเขียนมา จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์    เพียงแต่เพิ่มเติมจินตนาการ   ความคิด   ความฝัน และความคาดหวังของนักเขียนเข้าไป       
ประเด็นของนิยายวิทยาศาสตร์ไม่ใช่การสอน       แต่เป็นการอธิบาย และชี้ให้เห็นถึงผลกระทบทางวิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นในยุคนั้น ๆ  และการอ่านนิยายวิทยาศาสตร์ก็สามารถทำให้ผู้คนในยุคนั้นๆ เข้าใจถึงพัฒนาการและวิวัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์ที่มีบทบาทและผลกระทบต่อชีวิตของตนได้ง่ายขึ้น
ในส่วนของ Dr. Murcott เนื่องจากปัจจุบันท่านเป็นนักจัดรายการ ด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ให้กับทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กระจายเสียง BBC ของสหราชอาณาจักร ท่านจึงเน้นไปที่ประเด็น ด้านการรายงาน ข่าววิทยาศาสตร์ว่า โดยทั่วไปการรายงานข่าวสารทางด้านวิทยาศาสตร์นั้น มักไม่เสนอข่าวในรายละเอียดทั้งหมด เพื่อให้ตัวข่าวมีความน่าตื่นเต้น ทำให้ข่าวขายได้ เพราะเป็นที่สนใจของผู้คน แต่อย่างไรก็ตาม การนำเสนอข่าวสารทางวิทยาศาสตร์ที่ดีก็จะต้องนำเสนอข้อมูลให้ครบทั้งสองด้าน โดยเฉพาะถ้าข่าวนั้นจะทำให้เกิดความสับสนหรือตื่นตระหนกแก่ผู้คน เพราะโดยทั่วไปแล้วข่าวหรือการรายงานผลทางวิทยาศาสตร์นั้นมักจะมีความขัดแย้งกันเองเสมอ  ผู้นำเสนอข่าวจำเป็นต้องเข้าใจและตระหนักในความจริงที่ว่า แท้จริงแล้ว วิทยาศาสตร์นั้นก็ไม่สามารถฟันธงไปได้ว่า อะไรจริงหรือไม่จริง อะไรมีหรือไม่มี อะไรเป็นไปได้หรือไม่ได  วิทยาศาสตร์ทำหน้าที่เพียง แค่พิสูจน์สมมติฐานว่า สิ่งต่างๆ มีแนวโน้มว่่า เป็นไปได้หรือไม่ ดังนั้นการรายงานข่าวสารทางวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องสร้่างความสมดุล (balance in media)    โดยสื่อสารข้อมูลทั้งสองด้าน โดยเฉพาะเรื่องที่มีความขัดแย้งกันในหมูู่่นักวิทยาศาสตร์
นอกจากนี้ผู้สื่อสารต้องเข้าใจว่า การทำวิจัยหรือ ทดลองทางด้านวิทยาศาสตร์นั้น ไม่มีจุดจบ เพราะเมื่อพบคำตอบในเรื่องหนึ่งแล้วมันก็จะนำพาไปสู่คำถามในเรื่องอื่นอีกไม่มีวันสิ้นสุด  ดั้งนั้นการรายงานหรือนำเสนอข่าวสารทางด้านวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องตระหนักถึงเรื่องนี้       และรายงานด้วยความเข้าใจ อีกทั้งยังต้องทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า      นักวิทยาศาสตร์เป็นคนธรรมดา และกิจกรรม ทางวิทยาศาสตร์ก็เป็นกิจกรรมทั่วๆ ไป เหมือนกิจกรรมอื่นๆ ที่ผู้คนในแต่ละสาขาอาชีพทำกัน การสร้างแนวคิดเช่นนี้ จะช่วยให้การสื่อสารหรือ นำเสนอข่าวสาร ด้านวิทยาศาสตร์ประสบผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น เนื่องจากช่องว่างระหว่างนักวิทยาศาสตร์กับคนธรรมดาหายไปแล้วนั่นเอง

แหล่งที่มา https://www.gotoknow.org/posts/302765