วันพุธที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2559

การสื่อสารวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี กับการพัฒนาประเทศ

การพัฒนาอย่างรวดเร็ว ของวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ทำให้หลายประเทศในโลกที่ เห็นความสำคัญของการศึกษา ต่างปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจ ที่พึ่งพาอุตสาหกรรมเป็นหลัก มาเป็นระบบที่เน้นความรู้ในการพัฒนาประเทศแทน อย่างเช่น อเมริกา ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ประเทศเหล่านี้มีรายได้ของประชากร ติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศที่ส่งออกที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
            ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังพัฒนา เพื่อไปสู่ประเทศที่พัฒนาด้านอุตสาหกรรม ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้ว กำลังจะปรับเปลี่ยนไปสู่ สังคมดิจิตอลไปแล้ว เท่ากับว่าประเทศเหล่านี้ก็หนีไปจากเราอีกหนึ่งขั้น เมื่อรู้แล้วผู้นำประเทศของเราใช้เวลา 4 ปีในการบริหารประเทศได้พยายามปรับเปลี่ยนการบริหารงานราชการแผ่นดินให้เป็น รัฐบาลดิจิตอล หรือ (E-Government) โดยเน้นให้ประชาชนได้รับข้อมูล ข่าวสารมากขึ้น และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยอาศัยความรู้ ความเข้าใจวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เป็นตัวขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม พัฒนาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน

1. การพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี กับการปรับโครงสร้าง เศรษฐกิจ สังคม
และวัฒนธรรมไทย
                วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่ก้าวไปอย่างไม่หยุดยั้งนั้น ทำให้โครงสร้าง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เปลี่ยนแปลงไป เช่น การโคลนนิ่ง การตัดต่อพันธุกรรม การถอดรหัสพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต เหล่านี้คือวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่มีผลกับการพัฒนาประเทศทั้งสิ้น
            ด้านเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีก็เป็นส่วนที่ช่วยให้ เศรษฐกิจของอเมริกาด้วยการสร้างสรรค์เทคโนโลยีด้าน ไอทีจน บริษัทMicrosoft มีทรัพย์สิน มากกว่า 10 เท่าของมูลค่าการส่งออกของบราซิล ในปี 1998 ประชากรบราซิลมี ประมาณ 171 ล้านคน ส่วนไมโครซอฟท์มีพนักงาน เพียง 3 หมื่นกว่าคน
            ด้านสังคม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ช่วยรักษาผู้ป่วยจากโรคร้ายต่างๆ  ทำให้มนุษย์อายุยืนมากขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่สุขสบายขึ้น ระยะทางไม่เป็นอุปสรรคในการติดอีกต่อไป เมื่อก่อนการโทรศัพท์ไปอเมริกาจะเสียค่าใช้จ่ายนาทีละ 50 กว่าบาท แต่วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีช่วยลดเหลือไม่ถึง 10 บาทแถมเห็นน่าตา กันได้ด้วย

            ด้านวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ช่วยการรักษาโบราณสถาน วัฒนธรรมเก่าแก่ไม่ให้เสื่อมไปตามกาลเวลาได้ ช่วยศึกษาอดีตอันรุ่งโรจน์ของอาณาจักรต่างๆในอดีตได้ ทั้งหมดที่กล่าวมาคือผลของวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ซึ่งหากผู้นำประเทศมองเห็น และมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ก็จะสามารถแข่งขันกับ นานาประเทศที่พัฒนาแล้วได้

                สังคมกับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
            ถ้ามีคนถามเด็กๆ ว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร ส่วนใหญ่จะตอบว่า หมอ ตำรวจ ทหาร ข้าราชการ น้อยคนนักที่จะบอกว่าอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักพัฒนาเทคโนโลยี เพราะสังคมของประเทศไทยนั้นยังไม่เข้าใจในวิทยาศาสตร์เพียงพอ ไม่รู้ว่าวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีนั้นเข้าไปมีส่วนกับทุกๆ เรื่องของชีวิต
            พอพูดถึงเรื่องวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี หลายๆคนมักจะนึกถึงเรื่องราวเลวร้ายที่เกิดขึ้นจากวิทยาศาสตร์ เช่น เหตุการณ์เตาปฏิกรณ์ปรมาณูรั่วที่ รัสเซีย แก็สพิษรั่วที่อินเดีย สงครามโลกครั้งที่ 2 และอีกหลายอย่างที่พยายามจะนึกถึง จนทำให้สังคมเหล่านั้นปิดกั้นไม่อยากรับรู้ หรือเข้าใจวิทยาศาสตร์ว่าเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ
            J. Miller แห่งองค์การ National Science Foundation ของอเมริกา ได้สำรวจการรู้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของคน อเมริกันตั้งแต่ปี 2522 ว่ามีเพียง 44% เท่านั้นที่รู้ว่าอิเล็กตรอน เล็กกว่าอะตอม ต่อมา พ.ศ. 2541 คนอเมริกันมีความสนใจในวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมากขึ้นเป็น 70% ซึ่งการเพิ่มขึ้น J. Miller ให้เหตุผลว่า เกิดจากการที่หนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์ต่างๆ ได้ลงข่าวเกี่ยววิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ จนทำให้หลายคนในประเทศเกิดความคุ้นเคยกับวิทยาศาสตร์
            งานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 14 ซึ่งจัดที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงแรมรอยัล ออคิด มีจำนวนผู้เข้าลงทะเบียนประมาณ 800 คน
เมื่อเปรียบเทียบประชากรเกือบ 60 ล้านคน สังคมไทยยังมองไม่เห็นบทบาทของวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่จะช่วยพัฒนาประเทศได้ นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้มีบทบาทในการสร้างชาติ เหมือนกับนักการเมือง และนักเศรษฐศาสตร์ ในการประชุมครั้งนั้นมีข้อหนึ่งที่ต้องการให้มีการถ่ายทอดความรู้ และความตื่นเต้นทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีให้สังคมได้รับรู้บ้าง ควรเป็นหน้าที่ของใคร
            ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ให้ความเห็นว่านอกเหนือจากการพัฒนาการศึกษาในบ้านเราให้ดีขึ้นแล้ว การวิจัย และการพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีให้เจริญทัดเทียมกับ อารยะประเทศก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถยืนหยัดแข่งขันบนเวทีโลกได้ การสร้างวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีต้องให้เวลายาวนานจำเป็นต้องปรับโครงสร้างต่างๆ การสร้างบุคลากรในด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีให้มากขึ้น เราจึงต้องเตรียมตัว และปลูกฝังตั้งแต่ตอนนี้ แต่เนื่องจากคนไทยไม่ถูกสอนให้เป็นนักคิด เราจึงผลิตได้น้อย คอยพึ่งพาคนอื่น นักวิจัยบ้านเรามีน้อยแค่ 2 คนต่อหมื่นคน ซึ่งประเทศอื่นๆมีมากว่าถึง 10 เท่า

            การสื่อสารการสื่อสารวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี คืออะไร
                การสื่อสารการสื่อสารวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี   หมายถึง การใช้ความรู้ทางด้านนิเทศศาสตร์ ไปใช้ในการอธิบาย สร้างความเข้าใจ จุดประกาย หรือทำให้เกิดแนวคิดต่างๆ จากนักวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สู่ประชาชน หรือกลุ่มเป้าหมายให้เกิดความเข้าใจในวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีว่ามี ประโยชน์ และโทษอย่างไร มีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์แค่ไหน ปลูกฝัง และสร้างสำนึกจนเกิดการที่อยากที่จะเรียนรู้ หรือทำความเข้าใจกับวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
            ผู้ที่จะใช้ความรู้ทางนิเทศศาสตร์ มาบูรณการ กับวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีนั้น ย่อมต้องมีความรู้ความเข้าใจใน วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีบ้าง อาจไม่ถึงขึ้นรู้ลึก แต่ต้องรู้รอบด้าน เปรียบเทียบกับการที่ พนักงานขายสินค้า ย่อมต้องรู้จักตัวสินค้า จึงจะขายสินค้านั้นได้ แต่ปัจจุบันนักนิเทศศาสตร์ส่วนใหญ่ ยังไม่กล้าที่จะให้ความสนใจในการให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี กับกลุ่มเป้าหมายมากนัก อันเนื่องมาจากการขาดความเข้าใจในวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีนั่นเอง

                การสร้างความรู้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
            เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมานักสังคมศาสตร์ราวๆ 20 ประเทศได้ออกแบบสอบถามความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ใช้กลุ่มตัวอย่าง 25,000 คนซึ่งผลสำรวจมีดังนี้ คนยุโรปตะวันตกมีความรู้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มากกว่าคนยุโรปตะวันออก และผู้ชายรู้เรื่องดีกว่าผู้หญิง
ในเอเชียมีญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 12 ของโลก ซึ่งถ้าพิจารณา ให้ดีตัวเลขหรือสถิติบางตัว ก็จะเปลี่ยนแปลงไปตาม วัฒนธรรม ประเพณี และความเชื่อของคนในแต่ละชาติ ซึ่งมีบทบาทในการกำหนดความคิดเห็น หรือความเข้าใจในวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
            ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ ประเทศสิงคโปร์ ในปี 1950 สิงคโปร์เป็นเกาะเล็กๆ ยากจน และไม่ได้เป็นประเทศด้วย (มาเป็นประเทศเมื่อปี 1965) ผู้นำสิงคโปร์เคยขอเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซีย เพราะว่าการรวมกันจะทำให้ยากจนลงกว่าเดิม แม้แต่พม่า และศรีลังกายังมีฐานะรวยกว่าสิงคโปร์เสียอีก ลีกวนยูไม่มีทางเลือกนอกจากการให้การศึกษากับประชาชน ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ในปี 1999 คนสิงคโปร์มีรายได้มากกว่าคนอังกฤษ 2 เปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องมองพม่า กับบ้านเราเลยว่าต่างกันแค่ไหน ขณะที่พม่าใครที่มีคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องโทษจำคุก 15 ปี

2. เหตุผลของการพัฒนาบุคลากรด้านการสื่อสาร ให้มีความเข้าใจในวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
           
การทำหน้าที่ การไม่ทำหน้าที่ การละเลยต่อหน้าที่ของสื่อมวลชน
ความจำเป็นที่ต้องการสร้างความรู้ความเข้าใจในวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีต่อคนในชาติ เป็นเรื่องที่สำคัญมากทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน อย่างจริงจัง และต่อเนื่อง ใน 4ปีของการบริหารประเทศของนายกทักษิณ ชินวัตร ให้ความสำคัญกับการศึกษา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมากกว่ารัฐบาลที่ผ่านๆ มา แต่ก็ยังไม่สามารถเชื่อว่าคนในชาติจะมีความเข้าใจวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมากขึ้นกว่าเดิม องค์กร และสถาบันต่างๆในสังคมต้องร่วมมือกัน สร้างทัศนคติ มโนคติ ความเชื่อที่ดีต่อวิทยาศาสตร์ ให้ทุกคนเห็นถึงความสำคัญในการเข้าใจวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
องค์กรภาครัฐฯ และเอกชน ไม่ว่าจะเป็น สถาบันครอบครัว   สถาบันการศึกษา สถาบันสื่อมวลชน ต่างต้องปรับตัวให้ยอมรับในภาวการณ์ของโลกในยุคนี้ ซึ่งสื่อมวลชนก็มีหน้าที่สำคัญในการให้ข่าวสาร ให้ความรู้และการศึกษา ให้ความบันเทิง โน้มน้าวใจ และเป็นเวทีแสดงความคิดเห็น การใช้สื่อมวลชนมาช่วยในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี จึงเป็นหน้าที่ของสื่อมวลชน
ศ.ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ให้ความเห็นว่า สื่อมวลชนในประเทศไทยให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีน้อยเกินไป อาจเกิดจากเรื่องราวของวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีไม่เป็นที่สนใจของประชาชน เหมือนไสยศาสตร์ โชคชะตาราศี หรือสื่อมวลชนขาดความเข้าใจในวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และกลัวว่าการให้ข้อมูลด้านนี้เกิดความผิดพลาดได้ จึงไม่กล้าที่จะเสนอข่าวประเภทนี้
งูกินหาง ปัญหาที่ต้นเหตุ กลับกลายเป็นปัญหาที่ปลายเหตุ
ถ้าสื่อมวลชนไม่เข้าใจวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี จึงไม่กล้าเสนอข่าวนี้ คงต้องแก้ที่การศึกษาที่จบมา ก็จะพบปัญหาว่าในหลักสูตรไม่มีการสอนเรื่องวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเลย ถ้าไม่มีก็เพิ่มวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เข้าไปในหลักสูตร ก็จะพบว่าไม่มีผู้สอนเกี่ยวกับวิชาการนำเสนอข่าวด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี นี้เลยถึงมีก็น้อยมาก คงต้องแก้ด้วยการเพิ่มบุคลากรด้านนี้เข้าไป ปัญหาคือว่าสังคมยังไม่ยอมรับวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเลย เพราะนักศึกษาส่วนใหญ่จบสายวิทยาศาสตร์และ คณิต น้อยมาก และพวกที่จบก็จะเลือกเรียนแพทย์ และเลือกเป็นวิศวกรเสียส่วนใหญ่ น้อยคนนักที่จะเรียนคณะวิทยาศาสตร์ เหตุหนึ่งเพราะว่าขาดการให้ความรู้ โน้มน้าวใจในเห็นถึงคุณค่าของวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
สื่อมวลชนเป็นสถาบันของสังคมในการให้ความรู้ และหากภาครัฐฯ เห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ประชาชนย่อมเข้าใจ และเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีนั้นด้วย แต่ประชาชนจะเข้าใจ และติดตามข่าวสารวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ต่อเมื่อสื่อมวลชนเองต้องมีความเข้าใจ และติดตามวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในระดับสูง หน้าที่ ที่สำคัญของสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวสารวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีคือการ เป็นสื่อกลางระหว่างองค์กรวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี กับประชาชนทั่วไป
การเริ่มที่จะให้ความสนใจวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของสื่อสารมวลชนในระดับการศึกษานั้นในต่างประเทศมีมานานแล้ว ใช้ชื่อว่า การสื่อสารวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี หรือ(Science Communication) ซึ่งมีการเรียนการสอนในระดับ ปริญญาโท และเอกในต่างประเทศ ในประเทศไทยก็เริ่มมีการตื่นตัวอยู่บ้างแต่ก็ยังอยู่ในวงจำกัด ซึ่งจะมีการเพิ่มวิชาการรายงานข่าววิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ซึ่งจะแทรกไว้ในการศึกษาระดับปริญญาตรี เพื่อให้นักสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี สามารถรายงานข่าวสารที่เป็นความรู้ในรูปแบบต่างๆได้

3. แนวทางการพัฒนาหลักสูตร การสื่อสารวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี(Science Communication) เพื่อผลิตนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ป้อนเข้าสู่สังคม
               
ลักษณะที่สำคัญของนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
            ผู้สื่อข่าว ผู้รายงานข่าว ผู้จัดรายการ ผู้ผลิตรายการ ผู้เขียนบท บรรณาธิการ มีความสนใจใน วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีก็จะทำให้รูปแบบการนำเสนอ ข่าว บทความ สารคดี
การสัมภาษณ์ การอภิปราย การสนทนา ละคร หรือแม้แต่ภาพยนตร์ ก็จะถูกนำเสนอในรูปแบบที่น่าสนใจ น่าติดตาม และสร้างความเชื่อใจแก่ประชาชน
            การสร้างความเข้าใจนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายนั้นต้องอาศัยความรู้ด้านนิเทศศาสตร์เข้ามาช่วย แต่ต้องมีความเข้าใจนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีด้วยจึงจะสามารถสร้างภาพพจน์ที่ต่อ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีได้
             วิทยาศาสตร์ หมายถึงองค์ความรู้ที่ รวบรวมไว้อย่างเป็นระบบ และเป็นกระบวนการที่ใช้ในการค้นพบความรู้ มีความแท้จริง คงเส้นคงวา สามารถศึกษาและเข้าใจได้
            จากความหมายของวิทยาศาสตร์ จึงสรุปลักษณะของนักการสื่อสารวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีได้ดังนี้ 1.ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ 2.เชื่อมั่นว่าปัญหาต้องแก้ได้ 3.ถ้ามีปัญหาต้องพิสูจน์โดยการทดลอง 4.ไม่มีอคติ 5.ยอมรับกับสิ่งใหม่ๆและเต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลง 6.ยอมรับความจริง 7.มีตัวเลือกในการแปลความหมาย 8.ยอมรับข้อมูล ทฤษฎี และข้อสนับสนุนที่มีเหตุผล 9.อยากรู้อยากเห็น
            หน้าที่ของนักการสื่อสารวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
            การพยายามลดช่องว่าง แห่งความเข้าใจของประชาชน กับความรู้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเป็นหน้าที่สำคัญของนักการสื่อสารวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยเน้นที่การให้ความคิดโดยใช้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ร่วมกับความรู้จากศาสตร์อื่นๆ เช่นประเทศไทยเป็นสังคมการเกษตร ก็อาศัยความเข้าใจวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีจากนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่นำเสนอ แล้วนำไปประยุกต์ใช้กับสิ่งทำอยู่ ตัวอย่างการคัดเลือกพันธุ์ข้าวของกระทรวงเกษตรฯ

การเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา
การแก้ไขปัญหา บุคลากรด้านสื่อสารมวลขาดความเข้าใจในวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีจะต้องแก้พร้อมๆกันคือ ด้านนักศึกษา ด้านผู้สอน ด้านหลักสูตร และสังคมรวม เพื่อให้การแก้ไขโครงสร้างการพัฒนาบุคลากรด้านสื่อสารวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เป็นไปอย่างยั่งยืน
ด้านนักศึกษา คือผู้ที่จะทำหน้าที่สร้างความเข้าใจ และให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี จึงจำเป็นต้องปลูกฝังความเชื่อที่ว่าวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตทุกชีวิตบนโลกใบนี้ เพื่อที่สร้างแรงจูงใจใฝ่รู้เรื่องวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีตอลดไป และเมื่อจบการศึกษาไปแล้วก็จะทำหน้าที่ได้อย่างดี
ด้านผู้สอน นักศึกษาที่จบไปบางส่วน อาจเข้าสู่อาชีพ ครู อาจารย์ บุคคลเหล่านี้จะเป็นผู้จุดประกายความสนใจให้นักเรียนนักศึกษาในระดับต่างๆ ให้เห็นถึงคุณค่า และความจำเป็นที่ต้องสนใจวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ส่วนผู้สอนที่จะต้องสอนผู้ที่จะจบสาขานิเทศศาสตร์นั้นจำเป็นต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม และปรับเปลี่ยนทัศนคติให้ผู้ที่ต้องค้นหาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีตลอดไป
ด้านหลักสูตร พบว่าหลักสูตรด้านนิเทศศาสตร์ในปัจจุบัน ไม่มีวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเลย มีเพียงแต่วิชาบังคับที่ไม่เน้นให้คิด แต่มุ่งให้เรียนรู้เท่านั้น ดังนั้นงานวิจัยของ ผ.ศ.ธีรารักษ์ โพธิสุวรรณ กล่าวไว้ว่า การสร้างนักวิทยาศาสตร์นิเทศ ต้องสร้างตั้งแต่ระดับปริญญาตรี เพราะบัญฑิตเหล่านี้จะต้องลงไปทำงานระดับปฏิบัติการเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหมายถึงการเป็นผู้สร้างความเข้าใจ หรือเป็นสะพานเชื่อมระหว่างความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี กับสารธารณชน
ด้านสังคมรวม หมายถึง สื่อมวลชน และรัฐบาล สื่อมวลชนทั้งหมดไม่วาจะเป็น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ อินเตอร์เน็ต ต้องทำหน้าที่สร้างความเข้าใจในวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ส่วนด้านการเมืองก็จะต้องสนับสนุนสื่อเหล่านี้ ในรูปแบบต่างๆ เช่นการลดภาษีการสร้างภาพยนตร์เกี่ยววิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี หรือเสนอให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อกิจการที่ให้ความรู้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี การส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในระดับประชาชน จนก่อให้เกิดวัฒนธรรม และสังคมวิทยาศาสตร์
หากทุกด้าน ทุกฝ่ายต่างร่วมมือ ร่วมใจกันแล้ว ประเทศชาติไทยก็จะมี เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมที่ดี และสามารถแข่งขันกับ ทุกประเทศในโลกนี้ได้ อย่างเท่าเทียม

แหล่งที่มา  http://www.jobpub.com/articles/showarticle.asp?id=1437

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น