วันพุธที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2559

ความหมายของวิทยาศาสตร์

 วิทยาศาสตร์ คือ ความรู้ที่เกิดขึ้นมาจากการสังเกตปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นของธรรมชาติ วิทยาศาสตร์จะเป็นวิธีการค้นหาความจริงของธรรมชาติวิธีหนึ่ง ที่ได้ผลแน่นอนหรือถูกต้องที่สุด วิทยาศาสตร์จะมีหลักอันเป็นหัวใจอยู่ที่
๑. มีการศึกษาอย่างเป็นระบบ โดยศึกษาจากพื้นฐานแล้วแตกกิ่งก้านสาขาออกไปอย่างมีระเบียบ รวมทั้งยังมีการศึกษาและปฏิบัติอย่างมีขั้นตอนอีกด้วย
๒.     ศึกษาจากสิ่งที่มีอยู่จริงที่เราสามารถรู้เห็นหรือสัมผัสได้จริงในปัจจุบัน
๓.   ศึกษาโดยใช้เหตุใช้ผล ที่สมเหตุสมผลที่สุด
๔.    จะเชื่อต่อเมื่อได้มีการพิสูจน์หรือทดลองจนเห็นผลอย่างแน่ชัดแล้วเท่านั้น
สิ่งสำคัญในการศึกษาธรรมชาติและชีวิตของเรานี้ก็คือ เราจะต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์มาศึกษา  คือเราจะเอาสิ่งที่ปรากฏหรือมีอยู่จริงๆในปัจจุบัน ที่เราสามารถรู้เห็นหรือสัมผัสได้จริงด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจของเราเท่านั้นมาใช้ศึกษา โดยการคิดพิจารณาก็ต้องใช้เหตุผลที่สมเหตุสมผลเท่านั้น เราจะไม่อาศัยการคาดคะเน หรือนึกเดาเอา หรือเชื่อตามคนอื่นอย่างเด็ดขาด แม้ใครจะโอ้อวดว่าเขามีความรอบรู้อย่างยิ่ง หรือมีอิทธิฤทธิ์มากมายสักเพียงใดก็ตาม หรืออวดอ้างว่าเป็นผู้วิเศษที่รอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่างสักเท่าใดก็ตาม เราก็จะไม่เชื่อ จนกว่าเราได้จะพิสูจน์ให้เห็นจริงแล้วอย่างแน่ชัด
            การศึกษาที่ขัดแย้งหรือตรงข้ามกับหลักวิทยาศาสตร์อย่างยิ่งก็คือ “การเชื่อจากผู้อื่นโดยตนเองไม่ได้รู้เห็นหรือสัมผัสด้วยตนเองจริงๆอย่างแน่ชัด” ซึ่งนั่นเป็นหลักของ “ไสยศาสตร์” (ที่หมายถึงความรู้ของคนหลับหรือไม่มีสติปัญญา) ที่อาศัยเพียงความเชื่อโดยไม่ใช้ปัญญา คือไม่มีเหตุผล และไม่มีของจริงมายืนยัน โดยหลักของไสยศาสตร์ก็คือ “ให้เชื่อเพียงอย่างเดียว ห้ามถาม ห้ามสงสัย” ซึ่งไสยศาสตร์ก็ย่อมที่จะมีแต่เรื่องลึกลับไกลตัว หรือเรื่องที่เขาเชื่อว่าเหนือธรรมชาติ เช่น เรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ ปาฏิหาริย์ หรือสิ่งวิเศษ หรืออำนาจวิเศษต่างๆ เป็นต้น ที่พิสูจน์ให้เห็นจริงไม่ได้ มีแต่คำล่ำลือปากต่อปากเท่านั้น และคนที่เชื่อก็มักเป็นคนไม่ชอบใช้ความคิดและขลาดกลัวหรืออ่อนแอ  ซึ่งเรื่องไสยศาสตร์ที่สำคัญก็คือเรื่องที่ว่า จะมี “จิต” ของมนุษย์หรือสิ่งที่มีชีวิต ที่จะสามารถออกจากร่างกายที่ตายแล้ว ไปเกิดยังร่างกายใหม่ๆได้ (อย่างที่เรียกกันว่า ผี หรือวิญญาณ) หรือเรื่องสถานที่สำหรับลงโทษมนุษย์ที่ทำความชั่วที่ตายไปแล้ว (นรกใต้ดิน) หรือสถานที่สำหรับเป็นรางวัลแก่มนุษย์ที่ทำความดีเมื่อตายไปแล้ว (สวรรค์บนฟ้า) หรือเรื่องเทวดา นางฟ้า ปีศาจ ซาตาน เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องของไสยศาสตร์ทั้งสิ้น
ไสยศาสตร์ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสมอไป ถ้านำเรื่องไสยศาสตร์มาใช้ให้เกิดสิ่งที่ดีงามก็จัดว่ามีประโยชน์ แต่ถ้าเป็นเรื่องการศึกษาให้เกิดปัญญา เพื่อให้เกิดความเห็นแจ้งในธรรมชาติและชีวิตแล้ว ไสยศาสตร์กลับจะเป็นตัวฉุดให้จมอยู่ ไม่เจริญงอกงาม เราจะต้องละทิ้งไสยศาสตร์ แล้วมาใช้หลักวิทยาศาสตร์เท่านั้น เราจึงจะศึกษาให้เกิดความเห็นแจ้งชีวิตและธรรมชาติได้
            สรุปได้ว่า ถ้าเรายังเชื่อว่า “เรื่องราวของไสยศาสตร์ทั้งหลายมีจริงหรือเป็นจริง” ก็แสดงว่าเรายังเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงไม่ได้ เพราะยังไปหลงเชื่อสิ่งที่เราเองก็ยังพิสูจน์ให้เห็นจริงไม่ได้  แล้วจะมาเป็นนักวิทยาศาสตร์เพื่อค้นหาความจริงของชีวิตให้กับตัวเองได้อย่างไร? ซึ่งจุดนี้นับว่าสำคัญที่สุด ที่เราจะมองข้ามไปไม่ได้เลย ถ้าปรารถนาที่จะค้นหาความจริงให้กับตัวเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น